การทะเลาะกันคือรสชาติหนึ่งของความสัมพันธ์ การทะเลาะ(fighting)เกิดขึ้นเสมอไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ใด เมื่อคู่รักจะทะเลาะกันสักครั้งมักเกิดจากความอดอั้นตันใจในพฤติกรรมหนึ่งๆ ที่สร้างความไม่สบายใจต่ออีกฝ่าย แต่มีคู่รักบางส่วนที่เลือกอดทนต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง(conflict)ด้วยความเชื่อว่ามันจะทำลายความรักที่มีให้กัน อย่างไรก็ตามไม่มีใครชื่นชอบความขัดแย้งแต่ต้องทำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและยั่งยืน ดังนั้นผู้เขียนจึงมาบอกเล่าเรื่องราวของการทะเลาะกันคือรสชาติหนึ่งของความสัมพันธ์
ไม่เอา! ฉันไม่อยากทะเลาะกับเธอ

มีเหตุผลมากมายที่ผู้คนเลือกเงียบปากและเบียนหน้าหนีจากพฤติกรรมของอีกฝ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เงื่อนไขสองประการที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัญหามักเกิดจากประสบการณ์วัยเด็กและวิธีการรับมือต่อความขัดแย้งของผู้ปกครอง เชื่อว่าครอบครัวส่วนใหญ่มักสอนให้บุตรหลานของตนหัดควบคุมอารมณ์ของตนเองและบอกให้พวกเขาเข้มแข็งให้มากกว่านี้(อย่าร้องไห้เชียว) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากการควบคุมอารมณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ แต่ข้อเสียมักเกิดขึ้นหากพวกเขาควบคุมอารมณ์โดยไม่บอกใครเลยว่าสร้างความทุกข์ให้ตนมากเพียงใด ขณะที่บางส่วนอาจเคยมีประสบการณ์ความขัดแย้งที่เป็นมลพิษ(toxic conflict)ในความสัมพันธ์ครั้งก่อนหน้าหรือเกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจ(trauma) จนทำให้พวกเขาเกิดความกลัวโดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายเริ่มโกรธหรือโมโหใส่ตน และบางครั้งพวกเขาอาจต้องการมีความสุขกับช่วงเวลาดีๆ ร่วมกันจนทิ้งความขัดแย้งไว้ข้างหลัง
ภัยเงียบของความสัมพันธ์

การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งมักสร้างความขัดแย้งและช่องว่างในสายสัมพันธ์คู่รักให้ใหญ่มากยิ่งขึ้น เมื่อใครสักคนเก็บงำความรู้สึกไม่ดีของตนไว้นานเพียงใดก็ยิ่งสร้างแรงระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อทนไม่ไหวจนทำลายความสัมพันธ์แทบสิ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่สาเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นมาจากปัญหาเล็กน้อยแต่ไม่ถูกนำมาพูดคุยทุกครั้งที่เกิดขึ้นจนปัญหาใหญ่เกิดและตนรู้สึกว่าแก้ไขไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นการบอกกล่าวเมื่อมีสิ่งใดที่ทำให้ตนรู้สึกไม่สบายใจเพื่อกรุยทางสำหรับ “บทสนทนาเชิงลบ(negative narrative)” ว่าด้วยการพูดคุยถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขต่อไป ขอเสริมเคล็ดลับในการพูดคุยได้แก่ (1) เปิดบทสนทนาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลพร้อมอธิบายความรู้สึกและบอกว่าตนต้องการอะไร (2) ห้ามตำหนิหรือกล่าวโทษเมื่ออีกฝ่ายเปิดเผยความรู้สึก (3) ศึกษาคุณลักษณะของ “การเป็นผู้ฟังที่ดี” เช่น การปรับความรู้สึกและมุมมองของตนให้เข้ากับอีกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ควรคิดถึงความรู้สึกของตนเองขณะที่กำลังทำความเข้าใจอีกฝ่าย คู่รักที่ประสบปัญหาเช่นนี้สามารถนำไปปรับใช้กันได้
ขอบคุณภาพจาก https://unsplash.com/
#ยิ่งขัดแย้งยิ่งรัก #การทะเลาะกัน #เรียนรู้เรื่องรัก